8 เทรนด์ในการทำเว็บไซต์สำหรับปี 2019
ร้อยละ 57 ของเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก วางแผนจะใช้งบประมาณสำหรับการทำเว็บไซต์ขึ้นใหม่ หรือปรับปรุงเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้วภายในปี 2018
เทรนด์และเทคโนโลยีใหม่ในแต่ละปีกำหนดกรอบการทำงานของนักพัฒนาเว็บไซต์ในปีนั้นๆ การที่ธุรกิจต้องคอยตามติดการเปลี่ยนแปลงในโลกเทคโนโลยีซึ่งมี Life Cycle สั้นลงเรื่อยๆ จนเหลือเพียง 6 เดือนในปัจจุบัน ทำให้องค์กรต้องทุ่มเททั้งทรัพยากรและเวลาเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขันที่รุนแรงและรวดเร็วขึ้นในอนาคต เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เจ้าของธุรกิจจะต้องทราบเทรนด์ในการทำเว็บไซต์สำหรับปี 2019 เพื่อการจัดสรรงบประมาณที่คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด
[เทรนด์ #1] การดีไซน์แบบโมดูลและการลดต้นทุนในการทำเว็บไซต์
การดีไซน์แบบโมดูลช่วยให้นักพัฒนาสามารถนำส่วนประกอบและโมดูล “กลับมาใช้ใหม่” (Reuse) แทนที่จะสร้างหน้าเว็บขึ้นจากเทมเพลททุกครั้ง การดีไซน์โมดูลเหมือนเป็นการพัฒนาการใช้เทมเพลทให้ดีขึ้นอีกขั้นหนึ่ง หากจะมองให้ง่ายก็เหมือนกับการต่อ LEGO ที่นักพัฒนาเว็บไซต์สามารถนำแต่ละชิ้นส่วนของ LEGO (ในที่นี้คือ Web Component) มาเชื่อมต่อกันได้อย่างสมบูรณ์โดยไม่ต้องกังวลถึงการสร้างชิ้นส่วนหรือส่วนประกอบเลย เนื่องจากสามารถสร้างโมดูลขึ้นเพียงครั้งเดียวแล้วใช้งานได้ตลอดหรือนำชิ้นส่วนที่มีคนสร้างไว้แล้วไปใช้ ทำให้การทำเว็บไซต์เป็นไปอย่างรวดเร็ว ยืดหยุ่นและมีต้นทุนที่ต่ำลง
[เทรนด์ #2] การดีไซน์แบบ Responsive เพื่อรองรับการเพิ่มขึ้นของผู้ใช้งานผ่านโทรศัพท์มือถือ
ปัจจุบันการทำเว็บไซต์โดยคำนึงถึงการแสดงผลบนโทรศัพท์มือถือเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ไม่ใช่เพียงแค่ควรจะทำ ในปี 2015 การเข้าถึงเว็บไซต์ผ่านโทรศัพท์มือถือคิดเป็นร้อยละ 35 แล้วเพิ่มขึ้นเป็น 43 เปอร์เซ็นต์ในปี 2016 และเพิ่มอีกเกินครึ่งในปีที่ผ่านมา จึงไม่น่าแปลกใจที่ Google จะให้ความสำคัญกับการจัดอันดับเว็บไซต์โดยดูจากความพร้อมในการแสดงผลบนหน้าจอโทรศัพท์มือถือมากกว่าการเข้าถึงเว็บไซต์โดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์หรือแท็บเล็ต
[เทรนด์ #3] ระบบแชทบอท (Chatbot) ในการบริการลูกค้า
ผู้บริโภคเกินกว่าครึ่งพึงพอใจที่ได้รับบริการจากโปรแกรมแชทบอทเนื่องจากการตอบสนองที่รวดเร็วทันทีทันใด มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2020 การปฏิสัมพันธ์ระหว่างลูกค้าและธุรกิจจะกระทำผ่านแชทบอทมากถึง 80 เปอร์เซ็นต์ ถือได้ว่าแชทบอทเป็นการประยุกต์ใช้งาน AI เข้ากับงานบริการลูกค้าที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากผู้บริโภคปัจจุบันไม่ปฏิเสธที่จะรับบริการจากระบบอัตโนมัติตราบใดที่แชทบอทสามารถตอบสนองข้อมูลที่ผู้ใช้งานต้องการได้และองค์กรธุรกิจก็พร้อมจะลงทุนทำเว็บไซต์ให้เชื่อมต่อกับระบบแชทบอทที่มีประสิทธิภาพสูงและช่วยลดต้นทุนในการให้บริการลูกค้า
[เทรนด์ #4] ระบบเร่งความเร็วในการแสดงผลและโหลดหน้าเพจ (AMP: Accelerated Mobile Pages)
Google แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่ต้องการสนับสนุนให้เจ้าของเว็บไซต์พัฒนาเว็บไซต์ ให้สามารถโหลดหน้าเพจและแสดงผลได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยการจัดอันดับให้แสดงผลในผลลัพท์การค้นหาของ Google ให้น้ำหนักกับความเร็วในการโหลดหน้าเพจอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความเร็วในการโหลดและแสดงผลที่เพิ่มมากขึ้น 20 เท่า โดยใช้ AMP HTML ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดบางอย่างที่ลดทอนไอเดียสร้างสรรค์ของผู้มีหน้าที่พัฒนาเว็บไซต์ เจ้าของธุรกิจจึงควรหาจุดสมดุลย์ว่าเมื่อไรจึงควรเปลี่ยนไปใช้ AMP HTML
[เทรนด์ #5] ระบบค้นหาด้วยเสียง
ภายในระยะเวลาสิบปีที่ผ่านมาแนวโน้มการค้นหาด้วยเสียงเพิ่มขึ้นถึง 35 เท่า ปัจจุบัน ราวๆ 20 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใช้งาน Siri จะใช้งานอย่างน้อยวันละครั้ง กลุ่มวัยรุ่นยังใช้การค้นหาด้วยเสียงเป็นประจำทุกวัน คาดว่าภายในปี 2020 การค้นหาด้วยเสียงจะมีการใช้งานโดยผู้ใช้มากเท่าๆ กับการค้นหาด้วยการป้อนตัวอักษร
การค้นหาด้วยเสียงกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรง ไม่ว่าจะเป็น Siri ใน iPhone, Cortana จาก Microsoft, Google Assistant ของ Google, Amazon Alexa จะเห็นได้ว่าผู้นำในอุตสาหกรรมไอทีต่างก็ต้องการเป็นตัวเลือกในใจของผู้บริโภคทางด้านระบบค้นหาด้วยเสียง
Google เปิดเผยว่าร้อยละ 20 ของการค้นหาเป็นการค้นหาด้วยเสียง จะเห็นได้ว่าการทำเว็บไซต์ของคุณให้รองรับการค้นหาด้วยเสียงเป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ เพราะไม่เพียงแต่ผู้ใช้งานเว็บไซต์จะต้องการค้นหาข้อมูลในเว็บไซต์แต่พวกเขายังต้องการความสะดวกสบายในการค้นหาด้วยเสียงผ่านโทรศัพท์มือถือ
[เทรนด์ #6] การพัฒนาเว็บไซต์โดยคำนึงถึง API เป็นหลัก
ยิ่งโลกของเราเชื่อมโยงถึงกันมากเท่าไหร่ แอปพลิเคชั่นก็ต้องการเชื่อมต่อเข้าหากัน เทคโนโลยี IoT ทำให้โทรศัพท์มือถือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน รถยนต์ เครื่องเล่นเกมส์ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สวมใส่ ฯลฯ ต่างก็ต้องการเชื่อมต่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน
การเชื่อมต่อของแอปพลิชั่นต่างๆ สร้างความสะดวกสบายให้กับผู้ใช้ แต่ในแง่ของคนทำเว็บไซต์ เป็นเรื่องที่ยุ่งยากและซับซ้อนขึ้นตามจำนวนแอปพลิเคชั่นและอุปกรณ์ที่จะมาเชื่อมต่อ ในอดีตผู้พัฒนาจะพัฒนาฟีเจอร์และฟังก์ชันตามความต้องการของผู้ใช้งานเป็นหลักโดยไม่ได้มีการวางแผนการพัฒนาไว้รองรับการเพิ่มเติมฟังก์ชันใหม่ๆ ทำให้การพัฒนาเพิ่มเติมภายหลังทำได้ยากและยากขึ้นไปอีกหากมีการเปลี่ยนตัวผู้พัฒนาเว็บไซต์ แต่หากผู้ทำเว็บไซต์ เปรียบตัวเองเป็นผู้ใช้และออกแบบ API ไว้รองรับการพัฒนาและเชื่อมต่อกับแอปพลิชั่นอื่นๆ รวมทั้งมีการทำคู่มือเอาไว้ ก็จะทำให้การพัฒนาเว็บไซต์เพิ่มเติมหรือปรับปรุงแก้ไขทำได้ง่ายและลดเวลาในการทำงานได้มากขึ้น
[เทรนด์ #7] UI แบบเคลื่อนไหวกับความอดทนรอคอยของผู้ใช้ที่น้อยลง
อินเตอร์เน็ตคือแหล่งข้อมูลขนาดมหาศาลที่บรรจุข้อมูลต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหา รูปภาพ คลิปเสียง หรือวิดีโอในรูปแบบเว็บไซต์ ทางเลือกที่มีอยู่มากมายทำให้ความสนใจที่ผู้ใช้จะมีต่อเว็บไซต์หนึ่งๆ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ย้อนไปเกือบสองทศวรรษก่อน ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะจดจ่ออยู่กับหน้าเว็บเพจเป็นเวลา 12 วินาที ปัจจุบันเหลือน้อยกว่า 8 นาที นั่นหมายความว่าเจ้าของเว็บไซต์จำเป็นต้องพิจารณาให้ทีมงานที่ทำเว็บไซต์ออกแบบ UI ที่ดึงดูดความสนใจมากขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตจะไม่เปลี่ยนใจไปดูเว็บไซต์อื่นเร็วเกินไป
[เทรนด์ #8] AI และระบบความปลอดภัยบนเว็บไซต์
ปัจจุบัน AI เข้ามามีบทบาทในด้านระบบความปลอดภัยบนอินเตอร์เน็ต โดยไม่จำกัดอยู่เพียงแค่การใช้ AI ในการช่วยเหลือผู้ใช้งาน การคาดการณ์แนวโน้ม หรือวิเคราะห์ภาพถ่าย เพราะเหตุใด AI จึงช่วยในการป้องกันการคุกคามบนอินเตอร์เน็ต? เนื่องจาก AI สามารถทำงานได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องพักและอาศัยการเรียนรู้รูปแบบ (Pattern) ของแนวโน้มที่อาจะเป็นอันตรายต่อเว็บไซต์ทำให้สามารถป้องกันเหตุต่างๆ ได้ทัน ในขณะที่ผู้ดูแลระบบ (System Admin) กว่าจะแก้ไขปัญหาก็ต้องรอให้เกิดปัญหาขึ้นแล้ว การรักษาความปลอดภัยบนเว็บไซต์ด้วย AI จึงเป็นทางเลือกที่ต้นทุนไม่สูงและมีประสิทธิภาพมาก ด้วยเหตุนี้เจ้าของเว็บไซต์จึงควรที่จะบรรจุประเด็นนี้ในแผนการทำเว็บไซต์สำหรับปี 2019
สุดท้ายนี้ การทำเว็บไซต์สักเว็บหนึ่งอาจไม่ใช่เรื่องยาก แต่การจะทำเว็บไซต์ให้ประสบความสำเร็จและตรงกับใจผู้ใช้เป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาและความตั้งใจสูง เจ้าของธุรกิจที่ต้องการพัฒนาเว็บไซต์ขึ้นใหม่หรือปรับปรุงเว็บไซต์ที่มีอยู่แล้วในปี 2019 ต้องพยายามมากขึ้นเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งและตามทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
เจ้าของธุรกิจที่มีทีมพัฒนาเว็บไซต์สามารถเลือกเทรนด์ในการทำเว็บไซต์ที่เหมาะสมกับงบประมาณหรือมีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน สำหรับธุรกิจขนาดกลางและเล็กที่ยังไม่มีทีมทำเว็บไซต์ของตัวเองก็สามารถจะตามเทรนด์เหล่านี้ได้ เนื่องจากปัจจุบันมีแหล่งรวมฟรีแลนซ์มืออาชีพที่รับทำเว็บไซต์ในราคาไม่แพงและเชื่อถือได้ ยกตัวอย่างเช่น https://fastwork.co/web-development