ทำความรู้จักกับ Clickbait คือ? สื่อเว็บไซต์กับพาดหัวลวงให้คลิก
Clickbait คือ การใช้คำหรือรูปภาพพาดหัวที่ทำให้ดูชวนสงสัยใคร่รู้ หรือจูงใจให้ผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วไปคลิกเข้าไปอ่าน ทั้งที่เนื้อข่าวอาจไม่มีอะไรเลย แต่การพาดหัวทำให้คนหลงกลคลิกเข้าไปเพื่อเรียกยอด Traffic ในเว็บไซต์นั่นเอง
Clickbait คือ? เกิดมานานแล้วหรือยัง?
การมาของอินเทอร์เน็ต ทำให้การเติบโตของ Clickbait สูงขึ้น เพราะการพาดหัวของสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆที่ดี จะมีหลักอยู่คือ 5W1H (What, Where, When, Why, Who, How) ใครทำอะไร เมื่อไร ที่ไหน อย่างไรและทำไม ถ้าหากพาดหัวบอกไม่หมด ก็จะมีส่วนขยาย เพื่อบอกภาพรวมของข่าว นี่คือการพาดหัวข่าวแบบธรรมดา
แต่รู้ไหมว่า Clickbait ไม่ได้เพิ่งเกิดมาในช่วงยุคอินเทอร์เน็ตรุ่งเรืองหรอกนะ เกิดมาตั้งแต่ช่วงยุคปี 1888 ในสหรัฐอเมริกา ที่เรียกว่า “Yellow Journalism” หรือสื่อสีเหลือง ที่ส่วนมากเป็นข่าวโคมลอย ปราศจากข้อเท็จจริง แต่จะเน้นวิธีการพาดหัวข่าวให้ดูน่าสนใจเสียมากกว่า ซึ่งก็คล้ายกับ Clickbait ที่เฟื่องฟูในยุคนี้อยู่ไม่น้อย เพียงแต่เปลี่ยนจากพาดหัวบนสื่อสิ่งพิมพ์ มาเป็นบนอินเทอร์เน็ตเท่านั้นเอง
แล้วทำไมเว็บไซต์ต้องใช้วิธี Clickbait ล่อให้คนกดคลิกเข้าไปด้วยล่ะ
สิ่งที่เจ้าของเว็บไซต์จะได้จากการที่คนคลิกเข้าไปในเว็บไซต์ คือจะได้ค่าโฆษณาบางส่วนจากการจากการใช้ Google Adsense, Instant Article ของ Facebook รวมไปถึงโฆษณาจากแพลตฟอร์มอื่นๆ ซึ่งยิ่งมีคนคลิกเข้าเว็บไซต์มากเท่าไร ก็จะแสดงผลโฆษณามากขึ้นเท่านั้น ทำให้รายได้ของเจ้าของเว็บมากขึ้น ดังนั้นอัตราการพาดหัวแบบคลิกเบตนั้นจึงเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ
ข้อเสียของ Clickbait ล่ะมีไหม?
แน่นอนว่าการพาดหัวแบบ Clickbait นั้นมีข้อเสียอยู่ไม่น้อย สิ่งที่จะตามมาข้อแรกเลย คือ สื่อและเว็บไซต์ที่ใช้การพาดหัวแบบ Clickbait ภาพลักษณ์จะดูตกต่ำ ขาดความน่าเชื่อถือ และถ้าข่าวที่ขายได้มีแต่ข่าวเล็กๆ น้อยๆ ที่พาดหัวให้ดูใหญ่โต ยิ่งมีคนไลก์หรือคลิกมากเท่าไร การกระจายข่าวก็จะมากขึ้น จะเบียดข่าวที่มีความสำคัญมากๆ ให้ไม่ได้รับความสนใจ ดังนั้นแล้วถ้ามองในแง่มุมของผู้บริโภค ถ้าสนับสนุนหัวข้อข่าว Clickbait ด้วยการกดคลิก หรือแชร์ก็ตาม ก็จะทำให้ข่าวประเภท Clickbait มีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง
Facebook ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีอัลกอริทึมต้าน Clickbait
Facebook เองถึงขนาดปรับอัลกอริทึม เพื่อลดจำนวน Reach ของข่าวที่พาดหัวด้วยวิธีการ Clickbait ซึ่งไม่เพียงเฉพาะภาษาอังกฤษเท่านั้น แต่ยังรวมถึงภาษาอื่นๆ ด้วย ส่วนในไทยเองนั้น ถึงขนาดมีเพจชื่อดังอย่างเพจ “จบข่าว” ทำหน้าที่เปิดเผยเนื้อข่าวทั้งหมด ของเหล่าเว็บไซต์ Clickbait ทั้งหลาย
จะเห็นได้ว่าวิธีการพาดหัวแบบ Clickbait นั้นมีมานานแล้ว ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพียงแต่วิธีพาดหัวอาจถูกปรับให้กับยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟูก็เพียงเท่านั้น
ติดตามข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์ และแก็ดเจ็ตใหม่ๆ ของ Digital Marketing Wow
ได้ที่ Facebook และ Twitter
ที่มาบางส่วนจาก [1]