จัดระเบียบคอนเทนต์ บนเว็บไซต์อย่างง่าย ด้วยวิธีของคนโด มาริเอะ

 In Digital Marketing, How to

จัดระเบียบคอนเทนต์ บนเว็บไซต์อย่างไรดี ในบทความนี้จะนำเสนอเกี่ยวกับการจัดระเบียบคอนเทนต์ในเว็บไซต์ โดยนำวิธีของ คนโด มาริเอะ มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

สำหรับคนที่อาจจะยังไม่คุ้นชื่อของคนโด มาริเอะ เธอคือคนญี่ปุ่นที่เขียนหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุก ๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” หรือในภาษาอังกฤษ “The Life-Changing Magic of Tidying Up” ซึ่งมีการแปลไปหลายภาษา เผยแพร่ไปกว่า 30 ประเทศทั่วโลก และยังมีรายการซีรีส์ของตัวเองมีชื่อว่า “Tidying Up with Marie Kondo” ซึ่งคุณสามารถรับชมได้ทาง Netflix เพื่อให้เข้าใจระบบวิธีการจัดบ้านของเธอได้มากขึ้น

ซึ่งในหนังสือของเธอจะกล่าวถึงวิธีการจัดบ้านด้วยวิธีของเธอ โดยเริ่มจากจัดสิ่งของเป็นหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หนังสือ ของจิปาถะ ฯลฯ ในหมวดหมู่ย่อยนั้น ๆ ให้เราหยิบของสิ่งนั้นขึ้นมา คิดว่ามัน “Spark Joy” หรือทำให้เราเกิดความสุข และยังคงต้องการหรือไม่ ถ้าทำให้เกิดความสุข มีคุณค่าทางด้านจิตใจ จำเป็นที่ต้องใช้ให้เก็บเอาไว้ แต่ถ้าเป็นสิ่งของที่ “Did not spark joy” ไม่ทำให้เกิดความสุขกับคุณอีกต่อไป หรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อีกแล้ว ให้ทิ้งหรือนำไปบริจาคถ้าสิ่งของนั้นยังใช้งานได้อยู่

แล้ววิธีการจัดบ้านของคนโด มาริเอะ มาเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์ในเว็บไซต์ได้อย่างไร แน่นอนว่าถึงแม้ว่าจะดูไม่เกี่ยวข้องกันเลย แต่เราสามารถนำวิธีการจัดบ้านของคนโด มาริเอะ มาปรับการจัดคอนเทนต์บนเว็บไซต์ไม่ให้สะเปะสะปะได้เป็นอย่างดี ลองมาดูว่าควรจะเริ่มต้นอย่างไรบ้าง

จัดระเบียบคอนเทนต์ แบ่งประเภทของหมวดหมู่คอนเทนต์ในเว็บไซต์

คอนเทนต์ในเว็บไซต์มีมากมายหลากหลาย แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นอย่างแรกคือจำเป็นที่ต้องจัดหมวดหมู่ให้แยกออกจากกัน เพื่อที่จะทำให้เราเห็นภาพรวมว่า ในเว็บไซต์ของเรามีคอนเทนต์แนวไหนบ้าง และตรงตามทิศทางที่เว็บไซต์ของเราควรจะเป็นหรือไม่ ขึ้นการแบ่งหมวดหมู่ขึ้นอยู่กับประเภทของเว็บไซต์เป็นหลัก

  • เว็บไซต์ข่าว
    ข่าวเศรษฐกิจ, ข่าวเทคโนโลยี, Advertorial, คอลัมน์ต่าง ๆ ฯลฯ
  • เว็บไซต์ที่ขายสินค้าและบริการเป็นหลัก
    คอนเทนต์ขายโดยตรง, สาระความรู้ที่เกี่ยวกับสินค้าและบริการ, รีวิวจากผู้ใช้งาน, โปรโมชัน ฯลฯ
  • เว็บไซต์ขายคอร์สเทรนนิ่ง หรือเป็นที่ปรึกษา
    คอนเทนต์ How to, ข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเชี่ยวชาญ ฯลฯ

อันนี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างการจัดหมวดหมู่เท่านั้น จะเห็นได้ว่าในแต่ละประเภทของเว็บไซต์นั้นก็จะจัดหมวดหมู่ที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งเราสามารถนำมาปรับและประยุกต์ใช้ได้ตามความถนัด

คอนเทนต์ไหน “Spark Joy” ก็ควรเก็บไว้และให้ความสำคัญมาก

จัดระเบียบคอนเทนต์

สำหรับคอนเทนต์และ ”Spark Joy” ในที่นี้ไม่เชิงให้ความสุข แต่มีประโยชน์ต่อคนอ่าน และมีประโยชน์ต่อเว็บไซต์ ที่เรียกว่า Core Content ก็ควรจะเก็บเอาไว้ และพยายามปรับแต่งเพื่อให้ทันสมัยอยู่เสมอ และถ้าคอนเทนต์นั้นติดอันดับการค้นหาเป็นลำดับต้น ๆ อีกด้วย จำเป็นที่จะต้องดูและให้ดีมากยิ่งขึ้น

และอย่าลืมว่าคอนเทนต์ไหนที่ “Spark Joy” จำเป็นที่จะต้องมี Call to Action ที่ดีด้วย เพื่อเปลี่ยนจากคนเสพคอนเทนต์ ให้กลายเป็น Lead หรือเป็นลูกค้าเราให้ได้ สามารถอ่านเรื่อง Call to Action ต่อได้ที่นี่

ส่วนคอนเทนต์ที่ “Did not spark joy” หรือคอนเทนต์ที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อคนอ่าน และไม่เกิดประโยชน์ต่อเว็บไซต์ นำไปต่อยอดได้ยาก ไม่สามารถเปลี่ยนจากคนอ่านให้กลายเป็นลูกค้าได้ อาจจะไม่ถึงกับต้องทิ้งไปเหมือนกับสิ่งของ แต่ก็ไม่จำเป็นต้องให้คุณค่ากับมันมากนัก ทำคอนเทนต์ประเภทนี้ให้ลดลง ลดความสำคัญออกไป

เมื่อทำคอนเทนต์ใหม่ ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำคอนเทนต์ไปทำไม เพื่อใคร?

จากนั้นทุกครั้งที่เราทำคอนเทนต์ใหม่ ให้คำนึงอยู่เสมอว่า คอนเทนต์นี้เราทำไปเพื่ออะไร ใครเป็นผู้เสพ คนที่เสพคอนเทนต์นี้ของเราใช่กลุ่มเป้าหมายที่เราต้องการหรือไม่ และกลุ่มคนเหล่านี้ในอนาคตพร้อมที่จะเป็นลูกค้าเราใช่ไหม? เพราะถ้าทิศทางในการทำคอนเทนต์ไม่ชัดเจน ไม่สามารถตอบสิ่งเหล่านี้ได้ คอนเทนต์ที่ทำมาก็จะสูญเปล่า และอย่าลืมว่าในทุกครั้งที่ทำคอนเทนต์ใหม่ พยายามจัดเข้าหมวดหมู่ที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าต้องการเพิ่มหมวดหมู่ก็ทำได้เช่นกัน

จะเห็นได้ว่าวิธีการจัดระเบียบของ คนโด มาริเอะ ไม่เพียงแค่จัดระเบียบสิ่งของและการจัดบ้านได้เท่านั้น แต่เรายังนำมาประยุกต์ใช้เกี่ยวกับการจัดระเบียบคอนเทนต์ในเว็บไซต์ที่ดูยุ่งเหยิงให้เป็นระเบียบเรียบร้อยได้อีกด้วย ถ้าเว็บไซต์ของใครทำคอนเทนต์แล้ว แต่ยังไม่มีระเบียบเพียงพอ สามารถนำเอาวิธีนี้ไปปรับใช้ได้เช่นกัน

Thanakarn Lertsudwichai x Digital Marketing Wow

ติดตามข่าวสาร ได้ที่เว็บไซต์ Digital Marketing Wow และ เพจ Facebook และ Line @marketingwow

Recommended Posts