[How to] วิธีโฆษณา Google Search (Paid Search) ง่ายๆ เข้าใจมากกว่า ทำได้ด้วยตนเอง
วิธีโฆษณา Google Search เป็นวิธีในเบื้องต้นสำหรับการทำโฆษณา เพื่อให้แสดงผลการค้นหาให้ติดอันดับในหน้าแรก ซึ่งนับว่าเป็นส่วนหนึ่งของ Google Adwords ผู้ที่เริ่มต้นลงโฆษณากับ Google การเริ่มด้วย วิธีโฆษณา Google Search (จากนี้จะเรียกว่า Paid Search) จะเป็นเรื่องที่ไม่ยากต่อความเข้าใจ มาเริ่มกันเลยดีกว่า
วิธีโฆษณา Google Search เบื้องต้น
ถ้าหากยังไม่มี Gmail ให้สมัครก่อน เมื่อมีแอคเคานท์ Gmail เรียบร้อยแล้วให้ไปที่หน้าเว็บไซต์ของ Google Adwords คลิกที่นี่ เมื่อเจอหน้าของ Google Adwords แล้วกดที่ลงชื่อเข้าใช้มุมขวามือบน หรือกดที่เริ่มต้นตอนนี้ ปุ่มสีเขียวตามรูปภาพก็ได้เช่นกัน กรอกอีเมลและรหัสให้เรียบร้อย
จากนั้นจะมาที่หน้าจอ ยินดีต้อนรับเข้าสู่ Google Adwords ให้กรอกที่อยู่อีเมลของเรา และ URL เว็บไซต์ของเราให้ถูกต้อง เพราะการโฆษณาจะเป็นการให้ผู้คนคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของเรานั่นเอง
ในแท็บของงบประมาณ เริ่มต้นจะกำหนดไว้ที่ต่อวัน ว่าจะใช้งบเท่าไร ซึ่งเราสามารถเลือกจำนวนเงินและสกุลเงินได้ จำนวนเงินต่อวันจะเปลี่ยนแปลงเมื่อไรก็ได้ แต่สกุลเงินเมื่อเลือกแล้วไม่อาจเปลี่ยนแปลงได้ ดังนั้นจึงแนะนำให้เลือกสกุลเงินเป็นบาท (THB)
เลื่อนลงมาด้านล่าง ก็จะเจอให้เลือกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับธุรกิจและเว็บไซต์ของเราว่าต้องการแสดงโฆษณากับคนในจังหวัดใด เลือกได้ตามความต้องการ ถัดมาให้กดเลือกเอาเครือข่ายดิสเพลย์ออก (Display) ให้เหลือเพียงเครือข่ายการค้นหา (Paid Search)เท่านั้น เพราะในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะการโฆษณาเฉพาะคีย์เวิร์ด เนื่องจากมีจุดมุ่งหมายที่ต่างกัน จะกล่าวถึงความแตกต่างในบทความต่อไป
ความสำคัญของคีย์เวิร์ด Paid Search และประเภทของคีย์เวิร์ด
คีย์เวิร์ดนับว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ต้องตอบโจทย์ให้กับคนที่เข้ามาค้นหาให้มากที่สุด ใช้คีย์เวิร์ดให้ตรง เกี่ยวข้อง ไม่กว้างจนเกินไป ถ้าคีย์เวิร์ดกว้างมาก จะทำให้เสียเงินเปล่าโดยใช่เหตุ แต่ถ้าแคบมากจนเกินไป ก็อาจไม่มีคนค้นหาได้ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าหากเราขายสินค้าคือเคสไอโฟน เท่านั้น ไม่มีรุ่นอื่น ควรใช้คีย์เวิร์ดตรงตัวคือ [เคสไอโฟน] ไม่ควรใช้ [เคสมือถือ] หรือ [เคส] เนื่องจากกว้างเกินไป จึงทำให้กลุ่มเป้าหายที่ค้นเจอ ไม่เหมาะกับธุรกิจของเรานั่นเอง
อีกทั้งประเภทของคีย์เวิร์ดของกูเกิลจะแบ่งออกเป็น 3 แบบด้วยกันคือ Broad Match, Phase Match, Exact Match และ Negative Keywords ซึ่งผู้เขียนได้เคยอธิบายไว้บางส่วน สามารถศึกษาประเภทของคีย์เวิร์ดได้ที่นี่
วิธี Bid (การประมูลค่าคลิก)
ต่อมาคือให้เลือกราคา ซึ่งต้องอธิบายเบื้องต้นก่อนว่า Google Adwords ในส่วนของ Paid Search นั้น เมื่อมีคนคลิกถึงจะเสียเงิน ถ้าหากโฆษณาโชว์แต่ไม่มีคนคลิกย่อมไม่เสียเงิน จึงเรียกวิธีนี้ว่า Cost per Click (CPC) ซึ่ง Google Adwords มีให้เราเลือก 2 วิธีในเบื้องต้น
AdWords จะกำหนดราคาเสนอโดยอัตโนมัติเพื่อให้คุณได้รับคลิกมากที่สุด (Maximize Click)
วิธีนี้ Google จะกำหนดราคาต่อคลิกโดยอัตโนมัติ เพื่อให้เราได้จำนวนคลิกมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ตามจำนวนงบที่เรามี ข้อดีของการกำหนดราคาแบบ Maximize Click นั้น คือง่าย เหมาะสำหรับการใช้งานเบื้องต้น แต่ข้อควรระวังคือ ถ้าเจอคีย์เวิร์ดที่มีคู่แข่งจำนวนมาก อาจทำให้ราคาต่อคลิก (CPC) สูง
กำหนดราคาประมูลเอง (Manual Bid)
การกำหนดราคาประมูลเองมีข้อดีตรงที่เราสามารถควบคุมราคาต่อคลิกได้อย่างชัดเจน ทำให้ประหยัดกว่าการใช้แบบ Maximize คลิก แต่ถ้าเจอคีย์เวิร์ดที่มีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก แล้วเราประมูลค่าคลิกต่ำจนเกินไป ทำให้โฆษณาของเราไม่แสดงได้ ดังนั้นการกำหนดประมูลค่าคลิกเอง ต้องรู้ราคาต่อคลิกที่เหมาะสม จำเป็นที่จะต้องใส่ราคาประมูลลงไปด้วย
เริ่มเขียนโฆษณากันได้เลย
ถึงจุดสำคัญกันแล้ว คือการต้องเขียนโฆษณา ดึงความเป็นครีเอทีฟในตัวคุณออกมาให้ได้ หลักการเขียนไม่ยาก
- จำนวนตัวอักษรมีจำกัด ต้องใส่อย่างคุ้มค่า
- พยายามใช้คีย์เวิร์ด ใส่ลงในโฆษณาด้วย
- ใส่ราคา โปรโมชั่น ดึงดูดให้คลิก และน่าติดตาม
- ส่วนขยายโฆษณา (Ads Extensions) ช่วยทำให้โฆษณาโดดเด่นขึ้น มีอัตราคนคลิกมากขึ้น ผู้เขียนได้อธิบายไว้บางส่วน ศึกษาได้ที่นี่.
และอย่าลืมใส่ Landing Page ซึ่งคือ URL ที่เราต้องการให้เมื่อคลิกไป แล้วไปยังหน้าเว็บไซต์นั้นๆ
ใส่ข้อมูลการชำระเงินให้เรียบร้อย
ให้เลือกประเทศและเขตเวลาให้ถูกต้อง เพราะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงภายหลังได้ แนะนำให้เลือกเป็นประเทศไทย GMT +7:00 กรุงเทพ
ประเภทบัญชีสามารถเลือกได้ตามความต้องการ ทั้งธุรกิจ และบัญชีบุคคล จากนั้นจึงกรอกที่อยู่ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ส่วนเรื่องการชำระเงินนั้น จะแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ การชำระเงินแบบอัตโนมัติ และการชำระด้วยตนเองและสุดท้ายกรอกหมายเลขบัตรเครดิต เพื่อไว้สำหรับชำระเงิน จากนั้นกดที่เสร็จสิ้นแล้วสร้างโฆษณา เพียงเท่านี้ โฆษณาของคุณก็พร้อมที่จะแสดงผลในการค้นหาแล้ว
ในครั้งต่อไป เราจะมาเรียนรู้คำศัพท์ต่างๆ ที่ควรรู้ และวิธีการคิดค่าบริการอย่างละเอียด รวมไปถึงความแตกต่างของโฆษณาด้วย Paid Search และ Display ว่าเป็นอย่างไร
ติดตามข่าวสารจาก Digitalmarketing Wow ได้ที่ Facebook, Twitter และ Line @marketingwow